บัญชี

เทคนิคจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง

Posted on 12/02/2016 in Highlight, ข่าวรอบวัน, วารสารการเงินธนาคาร, เศรษฐกิจ - การคลัง


       คอลัมน์ Intelligence ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับ 406 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559  ได้วิเคราะห์เจาะลึกถึงนโยบายบัญชีแล่มเดียวของรัฐบาล และวิธีการปรับปรุงบัญชีที่ถูกต้อง ที่แนะนำโดยเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ในชื่อเรื่อง “อินไซด์ระบบบัญชีเดียว : เทคนิคจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง” 

       จากการที่รัฐบาลมีความต้องการให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ จึงได้ออกมาตรการบัญชีเล่มเดียว โดยการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องมา 2 ฉบับ คือ พระราชกำหนดการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ.2558 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา   โดยมีสาระสำคัญคือ การยกเว้นไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังในกรณีที่ผู้ประกอบการปรับปรุงบัญชีใหม่จากข้อผิดพลาดที่มีมาแต่อดีตให้ตรงตามสภาพความเป็นจริง และยกเว้นภาษี/ลดหย่อนภาษีเงินได้ให้สำหรับปีภาษี 2559 และ 2560 โดยผู้ประกอบการที่จะสมัครใช้สิทธิต้องจดแจ้งแสดงเจตจำนงกับกรมสรรพากรผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรระหว่างวันที่ 15 มกราคม-15 มีนาคม 2559 ซึ่งเหตุผลและความจำเป็นในการตราพระราชกำหนดยกเว้น และสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรก็คือ เพื่อสะท้อนสภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ โดยรัฐบาลสามารถวิเคราะห์และวางแผนในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการได้ตรงต่อความต้องการ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการผลิตและการค้า รวมถึงเป็นการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

       นอกจากนี้ การดำเนินการตามพระราชกำหนดในการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ยังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการนำระบบ e-Payment มาใช้ ซึ่งมีส่วนในการส่งเสริมให้การทำธุรกรรม และการบริหารเงินของผู้ประกอบการเป็นไปอย่างรวดเร็ว คล่องตัว และเกิดประสิทธิภาพ อันจะส่งผลสำเร็จต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นยังมีความสับสนอยู่มากว่าต้องปรับปรุงบัญชีอย่างไรให้ถูกต้อง  และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความกังวลใจว่าสรรพากรจะแอบไปตรวจสอบภาษีย้อนหลัง หรือแม้แต่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยกับคำว่า “บัญชีเล่มเดียว” ก็ยังมีคนเข้าใจผิดว่าคืออะไรกันแน่ ทาง ประสงค์ พูนธเนศ  อธิบดีกรมสรรพากร ได้ตระหนักว่า เรื่องมาตรการระบบบัญชีเดียวเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

       กรมสรรพากร ที่ซอยอารีย์ จึงเปิดห้องประชุมใหญ่สัมมนาชี้แจงทำความเข้าใจและเสนอแนวทางการปรับปรุงงบการเงินที่ถูกต้องแก่สำนักงานบัญชีและผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมฟัง พร้อมถ่ายทอดสดภาพการประชุมไปยังสำนักงานสรรพากร พื้นที่ทั่วประเทศเพื่อให้สำนักงานบัญชีและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ รับฟัง โดยคาดหวังให้สำนักงานบัญชีที่มีอยู่ประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศ ไปอธิบายให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจอีกต่อหนึ่ง แหล่งข่าวอินเทลลิเจนส์ ริมคลองประปา รายงานว่า อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวในช่วงเปิดสัมมนา และได้ย้ำและยืนยันหลายครั้งว่า มาตรการที่ออกไปนั้น “กรมสรรพากรจะไม่หลอกลวง” ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่าสรรพากรจะไม่หักหลังโดยการไปตรวจย้อนหลัง เพราะการออกกฎหมายครั้งนี้ เป็นการก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกันกับผู้ประกอบการ และกฎหมายที่ออกมาไม่ใช่การนิรโทษกรรมภาษี แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทำบัญชีที่ถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมา การทำบัญชี หริอการลงบัญชีของผู้ประกอบการ  บริษัทหลายแห่งอาจมีข้อผิดพลาด เช่น บันทึกสินทรัพย์คงเหลือน้อยไป บริษัทมีรถยนต์ อาคาร ทรัพย์สินอยู่นอกบัญชี มีการกู้เงินธนาคารในชื่อส่วนตัวแต่นำงินมาใช้ในกิจการ หรือมีเงินกู้ที่เป็นชื่อบริษัทกับธนาคารแต่มีการนำไปใช้ส่วนตัวด้วย ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขปรับปรุงบัญชีใหม่ให้ถูกต้องได้ ทั้งนี้ บัญชีเล่มเดียวไม่ได้หมายความว่าบริษัทต้องมีบัญชีเพียงเล่มเดียวเท่านั้น แต่คือ บัญชีและงบการเงินที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ซึ่งจะทำเป็นหลายเล่มก็ได้เพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ แต่ต้องเป็นข้อมูลการเงินชุดเดียวกัน แหล่งข่าวอินเทลลิเจนส์ รายงานต่อไปว่า สำหรับบริษัทที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งต้องเป็นรายได้ในปีบัญชีล่าสุดคือปีบัญชี 2558 แต่สำหรับบริษัทที่มีรอบบัญชีสิ้นสุดในเดือนกันยายนของทุกปี ที่จะครบรอบบัญชีปี 2558 ในเดือนกันยายน 2559 ให้ใช้รายได้ในรอบปีบัญชี 2557  ที่เริ่ม 1 ตุลาคม 2557-30 กันยายน 2558 ส่วนบริษัทที่มีวันสุดท้ายของรอบบัญชีในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี ให้ใช้รายได้ของรอบบัญชีที่เริ่มในวันที่ 1 เมษายน 2557 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท  ประมาณ 430,000 ราย คิดเป็น 98% ของธุรกิจไทย และแบ่งเป็นผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท คิดเป็น 81% ของธุรกิจไทยทั้งหมด แหล่งข่าวอินเทลลิเจนส์ รายงานต่อว่า

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ จะได้รับ จะแบ่งเป็น 2 กรณี

      กรณีแรก สำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท นอกจากจะไม่ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ยังจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคล 2 รอบระยะเวลาบัญชี ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2560 สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือ 10% ของกำไรสุทธิสำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท จากที่ปกติต้องเสียภาษีในอัตรา 15% ทั้งนี้ บริษัทที่จะได้รับสิทธิ ยกเว้นภาษี จะต้องไม่เคยมีรายได้เกิน 30 ล้านบาท เลย ตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา แม้ว่าในปีบัญชีปัจจุบันในปี 2558 หรือ 2-3 ปีย้อนหลังจะมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท เนื่องจากมาตรการนี้ต้องการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ยังมีรายได้ไม่มากให้สามารถขยาย ธุรกิจจนมีรายได้เกิน 30 ล้านบาทได้ บริษัทที่เคยมีรายได้เกิน 30 ล้านบาทแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษี 

      กรณีที่สอง สำหรับบริษัทที่มีรายได้เกิน 30 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 500 ล้านบาทแม้จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ก็เป็นโอกาสในการปรับปรุงบัญชีให้ตรงสภาพความเป็นจริงได้ทำบัญชีให้เป็นมาตรฐานที่ได้รับการรับรองทั้งทางกฎหมายและมาตรฐานบัญชี โดยไม่โดนตรวจสอบย้อนหลัง ประโยชน์อีกอย่างก็คือ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป กระทรวงการคลังได้ทำความตกลงกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งให้รับหลักฐานการทำธุรกรรมทางการเงินจากลูกค้าที่เป็นบัญชีและงบการเงิน ชุดเดียวกับที่ลูกค้าใช้ยื่นแสดงรายได้ต่อกรมสรรพากรเท่านั้น

       แหล่งข่าวอินเทลลิเจนส์ รายงานต่อไปว่า สำหรับกรณีที่จะไม่ได้รับการยกเว้นการตรวจสอบย้อนหลังได้แก่ กรณีที่บริษัทอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากร โดยมีหมายเรียกที่ออกก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 โดยเจ้าพนักงานประเมินสามารถดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรสำหรับรอบบัญชีที่ออกหมายเรียกเท่านั้น และกรณีกิจการที่เป็นผู้ออกหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอมหรือหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จ อีกทั้งกรณีที่กิจการขอคืนภาษีอากร เจ้าพนักงานประเมินสามารถตรวจสอบ ไต่สวน รวมทั้งการประเมินภาษีอากรดังกล่าวได้ และตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป บริษัทที่ได้รับสิทธิประโยชน์แล้วจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร หากเจ้าหน้าที่ตรวจเจอในภายหลังจะถูกเพิกถอนสิทธิยกเว้นภาษี และถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังในรอบปีบัญชีอื่นๆด้วย ทั้งนี้ การเพิกถอนสิทธิที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากการที่ผู้ประกอบการทำผิดระเบียบนั้น ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ขึ้นอยู่กับเจตนา หากบริษัทมีเจตนาที่จะทุจริต ก็สามารถถูกเพิกถอนสิทธิได้ง่าย แต่หากทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความผิดพลาดที่เกิดจากความเลินเล่อ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมาสู่การถูกเพิกถอน

 


ถาม-ตอบ ปัญหาบัญชีเล่มเดียว

คำถาม :  ภาษีหัก ณ ที่จ่าย สามารถตรวจย้อนหลังได้หรือไม่
คำตอบ :  ตรวจสอบย้อนหลังได้สาหรับกรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง แต่ไม่รวมถึงการตรวจสอบเพื่อประเมินภาษีประเภทอื่น


คำถาม :  การได้รับสิทธิเริ่มนับตั้งแต่วันใด
คำตอบ  จดแจ้งแล้วมีคุณสมบัติครบถือว่าได้สิทธิตั้งแต่ 1 ม.ค. 2559


คำถาม :  
รายได้ไม่เกิน 500 ล้าน หมายถึง รายได้โดยตรง + รายได้อื่น + รายได้ที่ถือเป็นรายได้ตามประมวลฯ – หักรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ใช่หรือไม่

คำตอบ :  เป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการตามมาตรา 65  หากมีข้อสงสัย ให้สอบถามเป็นการเฉพาะราย


คำถาม :  
รายจ่ายอันเป็นเท็จ เช่น มีหลักฐานการจ่าย แต่ผู้รับปฏิเสธการรับเงิน ใช่หรือไม่ 

คำตอบ :  ใช่ อย่างไรก็ตาม การตรวจรายจ่ายอันเป็นเท็จจะต้องมีหลักฐานชัดแจ้งว่ามีรายการดังกล่าว                     


คำถาม :  
มีข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่ไม่นำมารวมเป็นรายได้ถือเป็นการหลีกเลี่ยงหรือไม่

คำตอบ :  กรณีใดที่จะถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรต้องนำพฤติการณ์อื่นๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย แต่ถ้าเป็นกรณีไม่นำมารวมคำนวณซึ่งเป็นรายได้ก่อนปี 2559 กรณีดังกล่าว ไม่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้


คำถาม :  
การกระทำใดๆ ที่ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร เช่น บริษัทไม่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย?

คำตอบ :  กรณีใดที่จะถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรต้องนำพฤติการณ์อื่นๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย ให้แจ้งกรมสรรพากรพิจารณา


คำถาม :  
ทรัพย์สิน เช่น รถบรรทุก เครื่องจักร สินค้า จะบันทึกบัญชีอย่างไร

คำตอบ :  เดบิต ทรัพย์สิน รถบรรทุก เครดิต กำไรสะสม /ทุน ต้องมีหลักฐานชัดเจนจึงจะบันทึกรายการได้ โดยปรับกับบัญชีทุน หรือ กำไรสะสม


คำถาม :  
สินค้ามีสต๊อกตามบัญชี สูง หรือ ต่ำกว่า สต๊อกสินค้าจริง ปรับปรุงอย่างไร

คำตอบ : 1. กรณีสินค้าเกิน ให้ปรับเข้าสต๊อกการ์ด กับกำไรสะสม
                2. กรณีสินค้าขาด นับสต๊อกตอนสิ้นปี 58 ให้ไปยื่นภามูลค่าเพิ่มให้ถูก
                3. กรณีสินค้าเสียหาย ดู ป.58


คำถาม :  
หนี้สิน มีการกู้ยืมผู้เป็นหุ้นส่วนหลายสิบล้าน หรือ หลายร้อยล้าน จะปรับปรุงบัญชีอย่างไร (ไม่มีการกู้ยืมจริง)

คำตอบ :  ปรับ บัญชีทุน หรือ กำไรสะสม


คำถาม :  
หากปรับปรุงรายการทรัพย์สินหนี้สิน ตามที่กรมกำหนดแล้ว  ผู้สอบบัญชีต้องดำเนินการอย่างไรจะมีความผิดหรือไม่

คำตอบ :  ผู้สอบบัญชีต้องอธิบายในรายงานวรรคเน้น

             1. กำไรสะสมที่เกิดจากการปรับปรุงรายการเหล่านี้ไม่มี สิทธิได้รับเครดิตภาษีเพราะกำไรส่วนนี้ไม่ได้เสียภาษีมาก่อน  และทำกระดาษทำการด้วยเพราะจะได้เห็นชัดเจน ว่ากำไรส่วนใดได้มาอย่างไร

             2. การปรับปรุงแนะนำให้เข้าบัญชีทุนหรือกำไรสะสม ตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่8 ไม่ควรเข้าส่วนเกินทุน แต่ที่ดีที่สุดคือปรับกับบัญชีทุนแล้วให้ทำการเพิ่มทุน

             3. การปรับปรุงรายการทางบัญชีให้ถูกต้องควรทำให้เสร็จในรอบบัญชีปี 2558 โดยปรับกับกำไรสะสม เพื่อให้ได้ใช้ สิทธิยกเว้นการตรวจย้อนหลัง